ลงทุนในพระเครื่อง …เก็บเป็นเห็นเงิน ตอนที่3

ห่างหายกันไปนานครับ เพราะผมเองก็ติดภาระกิจหลายๆอย่าง ตอนนี้มาถึงตอนสุดท้ายแล้วครับว่าลงทุนในพระเครื่องได้อย่างไร บทความนี้จะเน้นการสะสมพระแบบคนทำงานทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในวงการพระเต็มตัว ครับ เพราะเราจะเน้นการเก็บแบบใช้เวลานิดนึง ไม่ได้แบบซื้อมาขายไปทันที (แต่ทำได้ถ้ามีเวลาและพระราคาดี อยู่ในกระแส) เพื่อไม่เป็นการเสีบเวลามาเริ่มกันเลยครับ

1. Mindset

ก่อนที่จะไปแสวงหาว่า พระอะไรคนนิยมเกร็งกำไรหรือสะสมกัน ผมอยากเสนอแนวคิด (Mind Set) ที่ถูกต้องก่อน แนวคิดเป็นเรื่องสำคัญมากครับ ในการลงทุนอะไรก็ตามในตลาดทุนนิยม  นักลงทุนส่วนใหญ่มักขาดMind Set ที่ถูกต้อง ทำให้ระยะยาวจะมีผลต่อการลงทุน

ตลาดพระก็เช่นกัน ผมไม่อยากให้มองว่าเป็นตลาดที่เราจะแสวงหากำไรแต่เพียงอย่างเดียว แต่ควรจะคืนกำไรกลับสู่สังคม เพราะวงการนี้ขับเคลื่อนด้วย “ความเชื่อและศรัทธาล้วนๆ”

ผมสรุปMimd Setให้ไว้ลองศึกษาดูครับ

  • เลือกเก็บจาก (พระหลัก)ฯลฯ รวมทั้งพระกรุ พระเก่า พระเกจิอาจารย์ต่าง ๆ เลือกเก็บสิ่งที่ชอบจะทำให้มีความสุขในการสะสม
  • เลือกเก็บพระที่เป็นพระหลัก หมายถึงว่า เป็นพระเครื่องที่ในวงการเล่นกัน มีสภาพคล่องสูง
  • เก็บพระสวย หรือสภาพเดิมที่สุด
  • อย่าโลภ ให้จำไว้ว่าพระแท้พระสวยไม่มีถูก
  • พระสวยและถูกซึ่งในความเป็นจริงอาจจะมี แต่น้อยมากๆ
  • ศึกษาหาความรู้เยอะๆการดูพระเป็นย่อมได้เปรียบกว่าแน่นอน
  • การตรวจเช็คพระต้องเช็คกับคนเป็น อย่าหูเบา
  • พระทุกชนิด(พระหลัก)ราคาจะขึ้นในอนาคต แต่จะมากหรือน้อยก็แล้วแต่ชนิดของพระ (ซึ่งผมจะกล่าวต่อไป) เก็บของที่ชอบและสวย ราคาขึ้นแน่ครับ

 

2. ชนิดของพระเครื่อง

ในแนวทางของผม ผมแบ่งพระเพื่อความง่ายในการจัดหมวดหมู่และสะสม ตามแนวทางที่ตัวเองถนัด (พูดง่ายๆว่าเป็นพระที่ดูเป็น ท่านอื่นอาจจะประยุกต์ เป็นรูปแบบอื่นได้ ไม่ว่ากัน) ดังนี้

1) พระอมตะนิยม – พระกลุ่มนี้ ถ้ามีเงินเก็บไปเลยไม่ต้องคิดมาก พุทธคุณไม่ต้องสงสัย ตลาดนิยม ราคาไม่มีทางลด มีขึ้นกับขึ้น

  • พระเบญจภาคี
  • พระหลวงปู่ทวด วัดช้างให้
  • หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่
  • หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง
  • หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ
  • หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ
  • หลวงปู่ศุข
  • และอีกมากมายหลายร้อยเกจิดัง

2) พระกรุ – พระกลุ่มนี้ราคาอาจจะไม่ขึ้นหวือหวา ยิ่งในสมัยนี้คนนิยมสะสมพระเกจิกันมากกว่า ผมมองว่าพระกรุเก็บได้ เฉพาะที่นิยมจริงๆ

3) พระเกจิ – แนะนำให้เก็บพระหลักของเกจิแต่ละท่าน ไม่ว่าเกจิเก่า เกจิใหม่ เก็บได้หมด แต่อย่าเก็บมั่วซั่วไปซะทุกรุ่นโดยเฉพาะเกจิยุคใหม่ซึ่งราคาอาจจะไม่ขึ้น

4) เครื่องราง – เก็บเครื่องรางสากลเท่านั้นครับ อะไรแปลกมากๆ ไม่แนะนำเลย ต้องมีที่มาและอยู่ในสารบบชัดเจน

 

3. ระยะเวลาในการเก็บสะสม

พระเครื่องถูกสร้างขึ้นว่าเพื่อให้อยู่ กับเราให้นานที่สุด การสะสมก็เช่นกัน ยิ่งอยู่กับเรานานมูลค่ายิ่งมากขึ้น จากที่ผมทำสถิตย้อนหลังไปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (เนื่องจากวงการพระเข้าสู่การซื้อขายออนไลน์มากขึ้น) พบว่าหากเราเก็บพระหลัก ซึ่งเป็นพระแท้ และ พระสวย มูลค่าเฉลี่ย จะเพิ่มขึ้นประมาณ 10-20 % (บางองค์ขึ้นถึง 200% บางองค์ราคาคงที่) ซึ่งมากกว่าฝากประจำหรือซื้อกองทุนอีกครับ

โดยตอนแรกที่เริ่มสะสมอย่างจริงจัง ผมเก็บทุกอย่าง ทุกรุ่น เท่าที่จะเก็บได้ และพบหลักความจริงที่ว่า ถ้าจะลงทุนในการสะสมพระเครื่อง ต้องยึดปัจจัย 3 ข้อหลักๆคือ

  • พระหลัก
  • พระแท้
  • พระสวย

 

4. พระใหม่

พระกลุ่มนี้มักจะสร้างโดยทีมงานพระ ร่วมกับทางวัด โดยออกพระใหม่ๆตามเกจิของวัดนั้น อันนี้ต้องเลือกดูทีมงานดีๆครับ เพราะมีคนสร้างพระเยอะมากในปัจจุบัน สำเร็จก็มี ไม่สำเร็จก็มาก ทีมงานไหนสร้างพระได้ดังมักจะสร้างรุ่นอื่นๆได้ดังตามกัน อันนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ดูครับ

 

บทความนี้จบพอดีกับ ลงทุนในพระเครื่อง…เก็บเป็นเห็นเงิน หวังว่าคงเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยครับ